นายชูฉัตร ประมูลผล
เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย
ประจำปี 2567 หรือ Thailand Insurance Symposium 2024
ภายใต้แนวคิด “สร้างโอกาสใหม่แห่งการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี
เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพอย่างยั่งยืน” (Redefining Insurance through Technology for
Sustainable Life and Health Protection) จัดโดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ
แกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพ ในรูปแบบ Hybrid ทั้ง Onsite และ Online
มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน
คปภ. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ
หน่วยงานภาคเอกชน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย
สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย
สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งนักศึกษาจากหลักสูตรของสำนักงาน คปภ. อาทิ
หลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง
(Super วปส.)
นักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) นักศึกษาหลักสูตรที่ปรึกษาด้านการประกันภัย (CIA) และสื่อมวลชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัย
การบริหารความเสี่ยง
และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม
และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัย
การบริหารความเสี่ยง และสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัย อีกทั้ง
เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และรับฟังความคิดเห็น
ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนากับวิทยากร เพื่อนำไปสู่การวางแนวทางการพัฒนาการประกันภัย
และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาระบบประกันภัย
ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายบุคลากรในอุตสาหกรรมประกันภัยทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายพิเศษมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ
ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม
และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการยกระดับการประกันชีวิตและสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
ทั้งนี้หากมีการนำเอาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ
ก็ทำให้เกิดการตั้งราคาเบี้ยประกันภัยมีความเหมาะสม
การพัฒนาแผนความคุ้มครองที่สนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและประชาชนสามารถใช้เป็นข้อมูลในตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ
รวมไปถึงการนำข้อมูลจาก Smart Watch หรืออุปกรณ์ที่สามารถติดตามการออกกำลังกายและข้อมูลสุขภาพของลูกค้ามาใช้ในการพิจารณาให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้และช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับข้อมูลที่ทันสมัยของแต่ละบุคคลในการนำไปประเมินความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจประกันภัย จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเทคโนโลยี สถิติข้อมูล และงานวิจัยในเชิงลึกและนำไปใช้ต่อยอดได้ จึงเป็นที่มาของการยกระดับสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สู่การเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการประกันภัย (Research Development and Innovation Center) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้ และวิทยาการด้านการประกันภัยในระดับสากล รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาผลงานวิจัย และทดลองนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในธุรกิจประกันภัยเพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนและพัฒนาให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่ทันสมัยที่สุด โดยศูนย์วิจัยแห่งนี้จะเป็นสถาบันชั้นนำในการพัฒนาบุคลากรในธุรกิจประกันภัย รวมถึงผู้นำและบุคลากรของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความรู้ด้านการประกันชีวิตและประกันวินาศภัย การนำประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ทิศทางในด้านกำกับดูแล และการดำเนินธุรกิจประกันภัย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมของโลก ในปีหน้าจะมีการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม สำหรับทั้งบุคลากรของธุรกิจประกันภัยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. รวมถึงหลักสูตรนานาชาติสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ก็คือ การเสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายความรู้และการแลกเปลี่ยนวิทยาการใหม่ ๆ นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการประกันภัย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรด้านการประกันภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสนอผลงานวิจัยและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงปลายปีนี้
สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จะร่วมกันจัดอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ ก็คือ งาน Insure Mall สรรพสินค้าออนไลน์รวบรวมผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด
“Insure Mall ครบทุกเรื่องประกัน จบทุกความต้องการ” โดย Insure
Mall จะเป็นช่องทางที่สำคัญในการให้บริการประชาชนผู้สนใจประกันภัย
สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างครบถ้วนในช่องทางเดียว
สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัย
สามารถเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย
และธนาคารที่คัดสรรแบบประกันภัยที่มีความเหมาะสมต่อตัวท่านและครอบครัว
ในรูปแบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา
ตลอดจนเป็นแหล่งรวมความรู้พื้นฐานด้านการประกันภัยสำหรับประชาชน
ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาสู่ประเทศไทย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
โดยจะมีกิจกรรมเปิดตัวโครงการซื้อประกันภัย รับส่วนลดสูงสุดถึง 30%และร่วมลุ้นรับของรางวัลมากมายสามารถติดตามได้ www.insuremallthailand.com
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “Future Landscape in Digital Insurance” โดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี
สำนักงาน คปภ. ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และนายสัมฤทธิ์ ตรงตรานนท์
ผู้อำนวยการสายงาน บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ต่อจากนั้นเป็นการบรรยาย หัวข้อ “Innovating
for Tomorrow: The Future of CX & Digital Workbench
in Insurance” โดย Mr. Eugene Macey, Partner, PwC SEA & Global Insurance
Customer & Digital Leader และหัวข้อ “Transforming
Healthcare and Insurance with AI” โดย นพ.เดโชวัต พรมดา ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท Healthtag จำกัด และยังมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร
วปส. รุ่นที่ 12 จำนวน 6 ผลงานได้แก่ รางวัลดีเด่น
รางวัลดี และรางวัลชมเชย
ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น ได้แก่ กลุ่ม GP 3 การพัฒนา Application เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในกรมธรรม์
และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ อย่างครบถ้วน : กรณีประกันภัยสุขภาพ และรางวัลดี ได้แก่ GP 2 การพัฒนากรอบธรรมาภิบาล AI
สำหรับธุรกิจประกันภัย (AI Governance Framework for
Thai Insurance Industry) อีกด้วย
“ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัล รวมทั้งขอแสดงความชื่นชมผลงานวิชาการของทุกกลุ่ม ขอยอมรับว่าผลงานวิชาการของทุกกลุ่มในปีนี้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดและพัฒนาระบบประกันภัยเป็นอย่างมาก ความตั้งใจของทุกท่านมีส่วนในการยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยและการพัฒนาธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย